เชิญร่วมงานประเพณีสลากย้อมหนึ่งเดียวในโลก ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน 2566 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน
วันที่ 15 กันยายน 2566 เวลา13.30 น. ที่ห้องประชุมหริภุญชัย ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดลำพูน นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน มอบหมายให้ นายชาตรี กิตติธนดิตถ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธานการประชุมการจัดงานประเพณีสลากย้อมหนึ่งเดียวในโลก ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ในโครงการลำพูนเมืองแห่งการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์วิถี สู่เศรษฐกิจสรรสร้าง กิจกรรมหลักส่งเสริมอัตลักษณ์ประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นของชาติพันธุ์ กิจกรรมย่อยที่ 2 กิจกรรมงานประเพณีสลากย้อมหนึ่งเดียวในโลก กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 23-29 กันยายน 2566 ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน โดยมี นายธวัชชัย อุบลพิทักษ์ วัฒนธรรมจังหวัดลําพูน นายพงษ์เทพ มนัสตรง ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน นายบารเมศ วรรณสัย รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน หัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
สำหรับกิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การแสดงชุด” แต้มสลากด้วย แสง สี” ณ ลานข่วงพระธาตุหริภุญชัย การประกวดต้นสลากย้อม สูงไม่ต่ำกว่า 12 เมตร สูงไม่เกิน 15 เมตร การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น จากเครือข่ายวัฒนธรรมจังหวัดลำพูน การประกวดฮ่ำกะโลง ประเภทเยาวชน บริเวณหน้าหอกังสดาล กิจกรรมถนนข่วงคนดาต้นสลากบนถนน อินทยงยศ หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่า พิธีถวายเส้นสลากแด่พระภิกษุสามเณร และพิธีถวายทานต้นสลากย้อม และวันที่ 27 กันยายน เวลา 18.00 น.เป็นต้นไป กิจกรรมแต่งดาต้นสลากย้อม ของเจ้าภาพต้นสลากย้อมทุกต้น โดยมีต้นสลากย้อมของส่วนราชการ จำนวน 10 ต้น และต้นสลากของภาคประชาสังคม ,วันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 16.30 น. ชมขบวนแห่ต้นสลากย้อมเมืองลำพูน บริเวณถนน อินทยงยศ หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูนหลังเก่า,วันที่ 29 กันยายน เวลา 14.00 น.เป็นต้นไปร่วมพิธีถวายทานต้นสลากย้อม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวร่วมทำบุญและร่วมงานประเพณีสลากย้อมจังหวัดลำพูนโดยพร้อมเพรียงกัน
สำหรับงานประเพณีสลากย้อมหนึ่งเดียวในโลก จังหวัดลำพูน เป็นส่วนสำคัญของงานประเพณี “ทานสลากภัตร” ซึ่งเป็นการทำบุญประจำปีก่อนออกพรรษา คนล้านนามักจะจัดทานสลากภัตรในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 “สลากย้อม” เป็นการถวายทานเพื่อเป็นพุทธบูชาของหญิงสาว บางพื้นที่จำเพาะเจาะจงว่าต้องเป็นหญิงสาวที่มีอายุ 20 ปีเท่านั้น ขณะที่บางพื้นที่ไม่จำเป็น ขอให้เป็นช่วงอายุ 20 ปี โดยประมาณอาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่าสัก 2-3 ปีก็ได้ แต่สิ่งที่เชื่อเหมือนกันก็คือต้องเป็นหญิงสาวที่ยังไม่แต่งงาน และเชื่อกันว่าการถวายสลากย้อมของหญิงสาวได้รับอานิสงส์ผลบุญสูงยิ่ง เทียบเท่ากับการบวชของผู้ชาย ลักษณะพิเศษของทานสลากย้อมคือ การนำประวัติของหญิงสาวที่เป็นเจ้าภาพของงาน หรือเป็น “ผู้ทานสลากย้อม” มาแต่งเป็นคำประพันธ์ นำมาผูกเล่าทำนองโบราณเป็นเรื่องตั้งแต่เกิด จนถึงปัจจุบัน เพื่อให้คนที่มาเที่ยวได้รับรู้ถึงประวัติและความดีงามของผู้ทานสลากย้อม ลักษณะเช่นนี้เหมือนกับการ เรียกขวัญ (ฮ้องขวัญ) นาคที่กำลังจะบวช ซึ่งตามประเพณีล้านนา จะมีการเล่าเป็นทำนองเทศน์ล้านนา บอกเล่าประวัติของผู้ที่กำลังจะบวชให้รู้ว่า เป็นผู้ที่กำลังทำความดี สละทุกอย่าง เพื่อก้าวเข้าสู่บวรพระพุทธศาสนา.
ภาพ/ข่าว : นายอานนท์ บุญมาตุ้ย ผู้สื่อข่าว ส.ปชส.ลำพูน
บรรณาธิการ : นางสาวมัณฑนา อาษากิจ ประชาสัมพันธ์จังหวัดลำพูน